เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ตลาดเกมที่ ‘โตเร็วที่สุดในโลก’

เรียกได้ว่าเป็นตลาดเกมที่ไม่เหมือนใครเลยทีเดียว ทั้งในแง่ของรสนิยม แนวเกม และความหลากหลายของผู้เล่น
เพราะตลาดเกมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเน้นไปที่ 6 ประเทศหลัก ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม
แค่ในปี 2019 อย่างเดียวนี้ ก็มีเงินสะพัดกว่า 4.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ
มีอัตราการเติบโตสูงถึง +13.9% (อ้างอิงจาก Newzoo’s Global Game Market Report)
ทำให้ผู้จัดจำหน่ายเกมทั่วโลก กำลังเล็งตลาดเกมในภูมิภาคนี้ว่าจะสามารถเติบโตได้อีกมาก
โดยตลาดเกมมือถือนั้น มีสัดส่วนถึง 69.4% เมื่อเทียบกับเกมคอมพิวเตอร์ที่ 22.3% และเกมคอนโซล 8.3%

เหตุผลที่สัดส่วนเกมมือถือนั้น มีมูลค่ามากกว่าคอมพิวเตอร์และคอนโซลรวมกัน มีอยู่ 3 ประการ อะไร ๆ ก็เกมจะเล่าให้ฟัง
1. โทรศัพท์เข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น
ราคาของโทรศัพท์ที่สามารถเล่นเกมได้นั้น มีแนวโน้มว่าจะมีราคาที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น และผู้คนในภูมิภาคนี้ก็ใช้โทรศัพท์มือถือกันเป็นกิจวัตรประจำวันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน เข้าสังคม และชีวิตส่วนตัว

2. การพัฒนาเกมบนมือถือ มีขั้นตอนที่ไม่ซับซ้อนเหมือนกับเกมคอนโซลและคอมพิวเตอร์
การพัฒนาเกมคอมพิวเตอร์และเกมคอนโซลนั้น ต้องมีการสำรวจตลาด ทำ Prototype มาทดลองเล่น ผลิตชิ้นงาน เขียนโปรแกรม ผลิตโมเดล ทำอะนิเมชั่น ผลิตเสียงเพลงประกอบ ทดสอบตัวเกมว่าทำงานได้ถูกต้อง
รวมไปถึงการสร้าง Community เปิดเว็บไซต์ ทำการตลาดต่าง ๆ อีกทั้งยังต้องมีงบประมาณที่มากพอ ที่จะจ่ายค่าตอบแทนพนักงานในการทำขั้นตอนทั้งหมดนี้ด้วย
รวม ๆ แล้วการพัฒนาเกมคอมพิวเตอร์และเกมคอนโซล ส่วนมากใช้เวลาเฉลี่ยกว่า 1 - 4 ปีตามขนาดของเนื้อหาในเกม
ในขณะที่เกมมือถือ งานของการเขียนโปรแกรมและงานภาพนั้น อาจจะไม่ได้มีความละเอียดมากเท่ากับเกมคอมพิวเตอร์หรือคอนโซล ทำให้ใช้พนักงานน้อยลง งบประมาณน้อยลง

3. โมเดลธุรกิจของเกมมือถือคล่องตัวกว่า
เกมมือถือต่าง ๆ นั้นถือเป็นนวัตกรรมการทำรายได้ (Monetization) เลยทีเดียว เพราะเกมมือถือแต่ละเจ้า ต่างก็พยายามหาวิธีที่จะทำเงินจากเกมของตัวเองให้ได้มากที่สุด โดยยังคงฐานลูกค้าทั้งที่จ่ายเงินและไม่จ่ายเงิน ให้อยู่กับเกมให้ได้นานที่สุด
ซึ่งหลาย ๆ เกมที่ทำสำเร็จในเรื่องนี้คือ Clash of Clans, Pokemon Go, RoV, Honor of Kings, Free Fire และอีกมากมาย

ในขณะที่เกมคอมพิวเตอร์ และคอนโซลนั้น การใช้จ่ายเงินเพื่อซื้อของในเกม (In-App Purchase) นั้นยังไม่มีความแพร่หลายมากนัก

ด้วยเหตุเหล่านี้เอง ทางบริษัททำเกมทั่วโลก เริ่มมีแผนที่จะเปิดสตูดิโอผลิตและจัดจำหน่ายเกมในภูมิภาคนี้มากขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น Sony Interactive Entertainment ยักษ์ใหญ่วงการเกม เจ้าของ PlayStation ก็ได้ประกาศเปิดสตูดิโอทำเกมในประเทศมาเลเซียไปแล้วเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ในงาน Level Up KL ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย

โดยคุณ Gobind Singh Deo รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสื่อสารและสื่อ (Ministry of Communication and Multimedia)
“เรามีความต้องการให้ต่างประเทศ หันกลับมามองมาเลเซียใหม่อีกครั้ง เพราะเราได้มีการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน และศักยภาพของบุคลากรในประเทศให้พร้อมสำหรับการลงทุนแล้ว” คุณ Gobind กล่าว
“เรายังจัดทำนโยบาย Digital Content Ecosystem (DICE) เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมสื่อดิจิตอลในประเทศ และเป็นผู้นำด้านการผลิตสื่อดิจิตอลในภูมิภาคนี้” - Gobind

สุดท้ายนี้ ผู้เขียนมีความเห็นว่า สื่อเกมนั้น กำลังจะเป็นที่แพร่หลายมากขึ้นทั่วโลก และจะมีนวัตกรรมใหม่ ๆ จากเกมเกิดขึ้นอีกมากมายในเร็ว ๆ นี้
ทางผู้เขียนหวังว่าประเทศไทยจะมีการผลักดันนโยบายต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับการเติบโตของอุตสาหกรรมได้ทันท่วงที เพื่อจะได้ไม่เสียโอกาสอันมีค่าตรงนี้ไปครับ
สำหรับผู้อ่านที่สนใจติดตามเพิ่มเติม ก็สามารถกด Like Facebook Page อะไร ๆ ก็เกม กันได้เลยนะครับ เพื่อเป็นกำลังใจให้ผู้เขียนทำเนื้อหาเกมดี ๆ มาเสิร์ฟอีกครับ ^^
References: