ชายผู้(เผลอ)ทำลายกำแพงเบอร์ลินโดยไม่รู้ตัว

ไม่มีใครรู้ว่าคืนนั้นจะกลายเป็นคืนประวัติศาสตร์

นายทหารที่เฝ้าด่านไม่รู้

รัฐบาลคอมมิวนิสต์ของเยอรมนีตะวันออกไม่รู้

หน่วยข่าวกรองของ CIA ไม่รู้

ประธานาธิบดีสหรัฐจอร์ช เอช ดับเบิ้ลยู บุช ไม่รู้

พรรคคอมมิวนิสต์ของสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตรัสเซียไม่รู้

มิคาอิล กอร์บาชอฟ ประธานาธิบดีโซเวียตก็ไม่รู้

และเพียงไม่กี่เดือนก่อนหน้านั้นเอง เอริค โฮเน็คเคอร์ (Erich Honecker)ผู้นำของเยอรมนีตะวันออก เพิ่งจะกล่าวว่า กำแพงเบอร์ลินจะมีอายุยืนต่อไปอีกอย่างน้อย ๆก็ 50 ปี หรืออาจนานถึงหลายร้อยปี

แต่คืนนี้กำแพงที่กั้นระหว่างเยอรมนีตะวันตกและตะวันออก กำลังจะล่มสลายลง

คืนวันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 1989 เป็นคืนที่ไม่ต่างไปจากคืนอื่น ๆ นายทหารที่เฝ้าด่านก็ทำงานไปตามปกติเหมือนเช่นทุกคืน ๆ พวกเขายังทำตามคำสั่งเดิมที่ว่า ถ้าพบใครพยายามจะข้ามกำแพงเพื่อหนีจากเบอร์ลินตะวันออกไปยังเบอร์ลินตะวันตก ก็สามารถยิงได้ทันที และการยิงนี้ไม่ใช่ยิ่งเพื่อข่มขู่ แต่เพื่อสังหาร

ถ้ารัฐบาลเยอรมนีตะวันออกไม่ได้สั่งให้มีการเดินทางเข้าออกอย่างเสรี แล้วกำแพงเบอร์ลินล่มสลายลงได้อย่างไร

หลังจากที่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 1945 ประเทศเยอรมนีซึ่งแพ้สงครามก็โดนแบ่งประเทศออกเป็น 4 ส่วน แล้วแต่ละส่วนก็อยู่ภายใต้การดูแลของ 4 ประเทศผู้ชนะสงคราม ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส อังกฤษ และสหภาพโซเวียต

เยอรมนีที่อยู่ภายใต้การปกครองของสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศส ก็รวมกัน แล้วจัดตั้งเป็นสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี หรือเยอรมนีตะวันตก

ในขณะที่เยอรมนีส่วนที่อยู่ภายใต้การปกครองของโซเวียต ก็ได้กลายเป็นเยอรมนีตะวันออก

ในช่วงแรก ๆ หลังแยกประเทศได้ไม่นาน ประชาชนของทั้งสองประเทศสามารถเดินทางข้ามชายแดนไปมาหาสู่กันได้ตามปกติ

เมืองหลวงของเยอรมนีเองก็ถูกแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนที่ครอบครองโดยฝ่ายพันธมิตรเรียกว่า เบอร์ลินตะวันตก และส่วนที่ถูกครอบครองโดยโซเวียต เรียกว่าเบอร์ลินตะวันออก

แต่เมื่อเวลาผ่านไปหลายปี ความแตกต่างระหว่างการปกครองแบบประชาธิปไตยของเยอรมนีตะวันตก และการปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์ของเยอรมนีตะวันออก ก็ส่งผลให้วิถีชีวิตของคนทั้ง 2 ประเทศต่างกันมากขึ้นเรื่อย ๆ

โดยทางเยอรมนีตะวันตก บ้านเมืองได้รับการฟื้นฟูและพัฒนาให้ทันสมัยสวยงาม ผู้คนมีชีวิตความเป็นอยู่สะดวกสบาย มีเสรีภาพในการเลือกดำรงชีวิต เศรษฐกิจเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว

ในทางตรงกันข้าม บ้านเมืองของเยอรมนีตะวันออกกลับไม่ได้รับการพัฒนามากนัก อาคารบ้านเรือนต่าง ๆ ค่อนข้างเก่า ธุรกิจของประชาชนถูกยึดไปเป็นของรัฐ ผู้คนไม่ค่อยมีเสรีภาพในการเลือกใช้ชีวิต เศรษฐกิจย่ำแย่ ผู้คนขาดอาหารและของใช้ที่จำเป็น

ด้วยเหตุนี้ชาวเยอรมันตะวันออกจำนวนมากจึงพยายามอพยพย้ายถิ่นไปเยอรมนีตะวันตก แรก ๆ ทางฝั่งตะวันออกก็ไม่ได้เข้มงวดกับการโยกย้ายมากนัก

แต่หลังจากคนหลักล้านย้ายหนีออกไปจนเกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจของประเทศ ทางเยอรมนีตะวันออกจึงสั่งให้ปิดกั้นพรมแดนระหว่าง 2 ประเทศ ด้วยการสร้างกำแพงยาวกั้นระหว่างแนวชาย รวมไปถึงแนวกำแพงที่ปิดล้อมกรุงเบอร์ลินฝั่งตะวันตก โดยไม่มีการประกาศให้ทราบล่วงหน้า

กำแพงเบอร์ลินส่วนที่กั้นระหว่างเบอร์ลินตะวันออกและตะวันตกมีความสูงประมาณ 4 เมตรและยาวประมาณ 45 กิโลเมตร ด้านบนของกำแพงยังมีรั้วลวดหนามเพื่อป้องกันคนปีนขึ้นไป และมีป้อมให้ทหารยืนเฝ้าเป็นระยะ ๆ เพื่อที่จะสามารถยิงสังหารคนที่หนีข้ามกำแพงได้ทันที

แต่สุดท้ายระบอบคอมมิวนิสต์ก็ทานกระแสประชาชนที่อดอยากไม่ไหว

ประเทศที่ปกครอบด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ทั้งหลาย รวมไปถึงสหภาพโซเวียตเองมีเศรษฐกิจตกต่ำมาเป็นเวลานาน ผลผลิตทางการเกษตรมีระดับต่ำจนไม่พอกิน ซ้ำยังขาดแคลนเทคโนโลยีที่จะมาช่วยเพิ่มผลผลิต

ประชาชนรู้สึกโดนกดขี่ การพยายามปฏิรูปต่าง ๆ ก็ล้มเหลวมาตลอด เมื่อประชาชนอดทนกับสภาพความเป็นอยู่ไม่ไหว จึงลุกฮือขึ้นมาประท้วงต่อต้านรัฐบาลคอมมิวนิสต์ในหลายประเทศ

ดังนั้นเมื่อประธานาธิบดีกอร์บาชอฟขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้นำ จึงสั่งให้ปฏิรูปประเทศขนานใหญ่ที่รู้จักกันในชื่อว่า การปฏิรูปกลัสนอสต์ (Glasnost) ที่ให้เสรีภาพทางความคิดมากขึ้น เปเรสตรอยคา (Perestroika) ซึ่งเป็นการปรับโครงสร้างระบบการเมืองและเศรษฐกิจ

เมื่อประชาชนได้รับเสรีภาพในการคิดและออกความเห็นมากขึ้น การปลุกระดมและเรียกร้องสิทธิเสรีภาพต่าง ๆ ก็ทำได้ง่ายขึ้นโดยไม่ต้องกลัวการถูกปราบปรามด้วยกำลังทหารอย่างรุนแรงเช่นในอดีต

สุดท้ายประเทศในยุโรปตะวันออกหลายประเทศก็สามารถปฏิรูปการปกครองได้สำเร็จ ไมว่าจะเป็นโปแลนด์ ฮังการี เชโกสโลวาเกีย หรือโรมาเนีย เป็นต้น

ในเยอรมนีตะวันออกก็ได้มีการปล่อยให้ประท้วงหรือเรียกร้องเสรีภาพได้มากขึ้น แต่ยังไม่มีวี่แววว่าจะเกิดการเปลี่ยนครั้งใหญ่เช่นที่เกิดในประเทศยุโรปตะวันออกอื่น ๆ ได้

แต่หลังจากฮังการีปฏิรูปประเทศได้สำเร็จ ก็มีการเปิดประเทศให้ประชาชนเดินทางไปสู่ประเทศอื่นในยุโรปตะวันตกได้อย่างเสรียิ่งขึ้น ชาวเยอรมันตะวันออกซึ่งสามารถเดินทางเข้าฮังการีได้เพราะปกครองด้วยระบอบคอมนิวนิสต์เหมือนกัน จึงใช้ช่องทางนี้เดินทางหนีไปสู่เยอรมนีตะวันตก

ต่อมาเมื่อเชโกสโลวาเกียเปิดชายแดนบ้าง ชาวเยอรมันตะวันออกอีกจำนวนมากก็ใช้ช่องทางนี้เพื่อหนีไปเยอรมนีตะวันตก จนเชโกสโลวาเกียเริ่มรับมือกับผู้อพยพที่หนีไปข้ามชายแดนไม่ไหว จึงเปรยไปทางสหภาพโซเวียต กอร์บาชอฟเลยต้องกดดันให้เยอรมนีตะวันออกทำอะไรสักอย่างเพื่อแก้ปัญหา

เมื่อกอร์บาชอฟสั่งการมา บวกกับเพื่อเป็นการดึงความนิยมของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ให้กลับมาบ้าง ในวันที่ 18 ตุลาคม ค.ศ. 1989 จึงมีการเปลี่ยนตัวผู้นำประเทศจากเอริค โฮเน็คเคอร์ ผู้เป็นผู้นำที่เข้มงวด ไปเป็นเอกอน เครนซ์ (Egon Krenz) ที่มีความอะลุ้มอล่วยมากกว่า

โดยเป้าหมายหลักคือ ต้องการให้ประชาชนเห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นบ้าง แล้วหวังว่าการหนีจากประเทศและการชุมนุมประท้วงในเมืองต่าง ๆ จะเบาบางลง

วันที่ 9 พฤศจิกายน 1989 รัฐบาลก็ออกกลยุทธ์ใหม่อีกหนึ่งกลยุทธ์ นั่นคือ ปรับปรุงกฎในการเดินทางออกนอกประเทศเสียใหม่ เพื่อให้ดูเหมือนว่าผ่อนปรนมากขึ้น

แต่ในความเป็นจริงแล้ว นโยบายใหม่นี้ออกมาเพื่อลดแรงกดดันจากประชาชนเฉย ๆ ไม่ได้คิดจะทำให้การเดินทางออกนอกประเทศง่ายขึ้นจริง ๆ

เพราะสุดท้ายประชาชนจะต้องมีพาสปอร์ตและวีซ่าซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่มี และรัฐบาลก็ตั้งใจจะใช้วิธีการที่ยุ่งยากซับซ้อน จนการขอพาสปอร์ตและวีซ่าใช้เวลานานมาก และสุดท้ายหลังจากรอมาเป็นเวลาแรมเดือนแรมปี ก็จะแจ้งว่าพาสปอร์ตและวีซ่าถูกปฏิเสธ ต้องเดินเรื่องใหม่ตั้งแต่ต้นอีกรอบ

และเพื่อให้นโยบายหลอกประชาชนใหม่นี้ถูกรับรู้อย่างกว้างขวาง รัฐบาลจึงจัดให้มีการแถลงข่าวขึ้น

ความผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ ในช่วงท้ายของการประชุมนี้เองที่นำไปสู่การล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน

ก่อนการแถลงข่าวจะเริ่มต้นขึ้น กึนเทอร์ ชาโบว์สกี (Günter Schabowski)โฆษกคนใหม่ของพรรคคอมมิวนิสต์ ก็แวะไปหาผู้นำรัฐบาล เอกอน เครนซ์ เพื่อจะถามยืนยันอีกครั้งว่า มีอะไรจะต้องประกาศเป็นพิเศษไหม

เครนซ์ทำท่าคิดครู่หนึ่ง แล้วก้มลงหยิบกระดาษจดบันทึกการประชุมความยาว 2 หน้ากระดาษที่มีลายมือจดโน้ตเพิ่มเติมอีกเล็กน้อยส่งให้ แล้วพูดว่า “เอานี่ไป มันจะทำให้เราดูดีในสายตาประชาชน”

ขณะนั่งรถลิมูซีนไปงานแถลงข่าว ชาโบว์สกีก็พลิกดูบันทึกการประชุมนั้นผ่าน ๆ โดยไม่ได้อ่านทำความเข้าใจอย่างจริงจัง เขามองว่าเป็นเพียงบันทึกการประชุมทั่วไปของบ่ายวันนั้นที่เขาไม่ได้เข้าร่วม เป็นเหตุให้เขาไม่รู้ถึงรายละเอียดบางอย่างที่คุยกันในที่ประชุม แต่ไม่ได้สรุปลงไปในกระดาษ 2 หน้านั้น

หกโมงเย็นของวันนั้น การแถลงข่าวเป็นไปอย่างน่าเบื่อ ตลอด 1 ชั่วโมงของการแถลงข่าวมีแต่เรื่องเดิม ๆ ประเด็นก็ไม่ชัดเจน นักข่าวที่มาเข้าร่วมฟังก็ฟังอย่างเบื่อ ๆ ง่วง ๆ เมื่อใกล้จะปิดการแถลงข่าว ชาโบว์สกีก็นำประเด็นในกระดาษที่เขาได้รับมาพูดถึง โดยเขาตั้งใจจะพูดเร็ว ๆ สั้น ๆ แล้วปิดการแถลงข่าวโดยไม่ให้ใครมีโอกาสซักถาม

แต่ประเด็นดังกล่าวกลับจุดชนวนให้นักข่าวที่กำลังนั่งตาปรือ หาวแล้วหาวอีกกว่า 40 คนตาสว่างขึ้นมา

ชาโบว์สกีที่ไม่ชินกับการยิงคำถามในสไตล์ของนักข่าวโลกตะวันตก เขาจึงตั้งตัวไม่ทันเมื่อนักข่าวทุกคนพร้อมใจกันยกมือขึ้นเพื่อจะขอตั้งคำถาม นักข่าวบางคนก็ไม่รอให้ถูกเรียก แต่ตะโกนถามขึ้นมาทันที

นักข่าวชาวอิตาเลียนจาก ANSA ชื่อริกคาร์โด แอร์มัน (Riccardo Ehrman) เป็นอีกคนที่ไม่รอให้ถูกเรียก แต่ตะโกนถามขึ้นมาเลยว่า การเดินทางจากเยอรมนีตะวันออกไปยังตะวันตกต้องใช้พาสปอร์ตไหม

ชาโบว์สกีพยายามอ่านจากบันทึก แต่หาคำตอบไม่เจอ และด้วยความที่เขาไม่ได้เข้าประชุมด้วย จึงไม่รู้รายละเอียด

เขาเกาหัวอย่างงงๆ สลับแผ่นกระดาษในมือไปมา หยิบแว่นตาขึ้นมาสวมพยายามจะอ่าน ที่ปรึกษาซึ่งนั่งอยู่ข้าง ๆ เอียงตัวเข้ามากระซิบ เขาตอบอย่างไม่มั่นใจว่า “เท่าที่ผมรู้ วันนี้มีการตัดสินใจ...” แล้วเขาก็เริ่มอ่านข้อความที่เขียนด้วยภาษาราชการ วกวนไปมาให้นักข่าวฟัง ข้อความนั้นไม่ได้ตอบคำถามที่นักข่าวอยากรู้ มีเพียงข้อความที่จับใจความได้ว่า “อนุญาตให้เดินทางผ่านชายแดนได้” และมีคำว่า “ประชาชนทุกคน “

นักข่าวอีกคน(ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นใครเพราะกล้องไม่ได้จับภาพไว้)ก็ตะโกนถามจากด้านหลังห้องว่า จะเริ่มมีผลเมื่อไร

ชาโบว์สกีทำหน้างงๆ พลิกกระดาษไปเรื่อยๆขณะที่พูดอย่างไม่มั่นใจว่า “เท่าที่ผมรู้ ไม่ต้องรอช้า มีผลทันที”

เมื่อการแถลงข่าวเสร็จสิ้นลงในเวลาหนึ่งทุ่ม นักข่าวต่าง ๆ ก็รีบรายงานข่าวใหญ่นี้กลับไปยังสำนักข่าวของตน

เพียงแค่ครึ่งชั่วโมงหลังข่าวออก สำนักข่าวต่าง ๆ ของอังกฤษ อเมริกา และอิตาลี ก็เริ่มประกาศข่าวว่า กำแพงเบอร์ลินล่มสลายลงแล้ว ส่วนทีวีหลายช่องของเยอรมนีก็รายงานข่าวตอนสองทุ่มว่า กำแพงอาจจะเปิดให้ผ่านได้เร็ว ๆ นี้ แต่ในภาพข่าวมีภาพของชาโบว์สกีขณะพูดว่า “ไม่ต้องรอช้า มีผลทันที” ติดออกไปด้วย

ชาวเยอรมันตะวันออกที่ได้รับฟังข่าว แม้จะไม่รู้รายละเอียด แต่เข้าใจว่าว่า ชาวเยอรมันตะวันออกสามารถเดินทางผ่านกำแพงได้อย่างเสรี และเริ่มได้ตั้งแต่วินาทีนี้เป็นต้นไป ถึงจะไม่แน่ใจว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ แต่ประชาชนก็รีบออกจากบ้านและพากันเดินทางไปยืนรอที่ประตูกำแพง

ไม่มีใครจำเวลาได้แน่ชัด แต่ประมาณสองทุ่มกว่า ๆ ถึงสามทุ่ม ทหารที่เฝ้าด่านก็ต้องประหลาดใจกับภาพที่เห็น เมื่อชาวเยอรมันตะวันออกจำนวนมากเดินตรงมาที่ด่าน

แรก ๆ เริ่มต้นจากคนจำนวนแค่หลักสิบหลักร้อยมายืนด้อม ๆ มอง ๆ แล้วขอผ่านด่านออกไป โดยให้เหตุผลว่า รัฐบาลอนุญาตให้ผ่านได้เสรี ทหารซึ่งไม่ได้ดูข่าวก็งง จึงพยายามจะโทรเช็กกับผู้บังคับัญชา แต่ก็ไม่ได้คำตอบ สุดท้ายจึงพยายามไล่คนที่มายืนดูให้กลับบ้าน โดยบอกว่าให้ลองมาดูใหม่ในเช้าวันรุ่งขึ้น

แต่ในเวลาไม่นานนัก คนก็เพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็วไปเป็นหลักพันและหลักหมื่น และที่แปลกมากคือ คนจำนวนมากที่มานี้ไม่ได้มาประท้วง แต่มากันอย่างสนุกสนาน หน้าตายิ้มแย้ม เดินตรงมาขอให้เปิดประตูด่านอย่างมั่นใจ ผู้คนเหล่านี้ต่างยืนยันว่า พวกเขาได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าออกระหว่างด่านได้อย่างเสรีแล้วตามที่ประกาศในข่าว

ในขณะที่มีการแถลงข่าวนั้น ทางเยอรมนีตะวันตกกำลังมีประชุมสภาที่เมืองบอนน์

เมื่อสมาชิกสภาได้รับทราบข่าว ก็พร้อมใจกันลุกขึ้นยืนแล้วร้องเพลงชาติด้วยน้ำตาคลอเบ้า ความพยายามเจรจาเพื่อจะรวมประเทศล้มเหลวมาหลายครั้ง หมดเงินไปมากมายมหาศาล แต่แล้วจู่ ๆ ความฝันที่ไม่มีวี่แววก็กลายเป็นจริงขึ้นมาเฉย ๆ

เมื่อร้านอาหารทางฝั่งเยอรมนีตะวันตกที่อยู่ใกล้ ๆ ได้ยินข่าวทางทีวี ทั้งพนักงานเสิร์ฟและลูกค้าต่างพากันเดินออกไปที่ชายแดน แต่ละคนถือแก้วและขวดแชมเปญไปด้วย โดยตั้งใจจะเปิดดื่มฉลองเมื่อประตูด่านที่กั้น 2 ประเทศเปิดออก

เมื่อทหารที่เฝ้าด่านเห็นคนมากมายทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตก ก็งงกับสิ่งที่เกิดขึ้น พยายามจะโทรไปสอบถามผู้บังคับบัญชาอีกรอบ แต่ผู้บังคับบัญชาก็งงว่า ทำไมตัวเองไม่รู้เรื่องสำคัญเช่นนี้มาก่อน และพยายามสอบถามคนอื่น ๆ ต่อไปเรื่อย ๆ

แม้แต่ผู้นำเยอรมนีตะวันออกเองก็ยังงง ทุกคนต่างสงสัยว่าใครเป็นคนสั่งการออกไป แต่ถามใครก็ไม่ได้คำตอบ

สุดท้ายทหารที่เฝ้าด่านจึง ๆ ๆเปิดประตูให้คลื่นชาวเบอร์ลินตะวันออกนับหมื่น ๆ คนเดินผ่านไปได้อย่างงง ๆ

หลังจากนั้นก็ไม่มีอะไรสามารถหยุดคลื่นของประชาชนที่ต้องการจะเดินทางเข้าออกระหว่างด่านได้อีกต่อไป

เมื่อถึงเวลาตีหนึ่ง ประตูก็เปิดกว้างเต็มที่ให้คนเข้าออกอย่างอิสระ ชาวเบอร์ลินจำนวนมากขึ้นไปยืนเต้นรำกันบนกำแพง ชาวเยอรมันตะวันออกจำนวนมากร้องเพลงขณะเดินเข้าไปยังดินแดนของเบอร์ลินตะวันตก ชาวเยอรมันตะวันออกและตะวันตกบางคนโผเข้ากอดกันด้วยน้ำตาแม้ว่าจะไม่เคยรู้จักกันมาก่อน

แต่ความผิดพลาดเล็ก ๆ นี้ก็ไม่ได้แค่ทำให้กำแพงเบอร์ลินล่มสลาย เพราะสุดท้ายการล่มสลายของกำแพงก็ส่งผลต่อไปอีกเป็นทอด ๆ ไม่นานหลังจากนั้น สหภาพโซเวียตก็ล่มสลายลงไปพร้อม ๆ กับการสิ้นสุดของสงครามเย็นระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต

หลายปีผ่านไป ชาโบว์สกีย้ายไปใช้ชีวิตอยู่เงียบ ๆ ในเมืองเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง แต่ก็ยังมีนักข่าวเข้าไปสัมภาษณ์ว่า เขารู้สึกอย่างไรกับเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้น

เขาเล่าว่า เอกอน เครนซ์ บอกว่า เขาไม่เพียงทำให้กำแพงเบอร์ลินล่มสลายลงเท่านั้น แต่ยังทำให้กลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์หรือ Eastern Bloc ทั้งหมดล่มสลายลงไปด้วย

ชาโบว์สกียอมรับว่า คืนนั้นเขาทำงานผิดพลาดไปจริง ๆ ด้วยเหตุที่รู้สึกเหนื่อยล้าเกินไป การตัดสินใจก่อนตอบจึงไม่รอบคอบอย่างที่ควรเป็น ความจริงเขาไม่ควรจะตอบคำถามที่ระดมยิงขึ้นมาเช่นนั้นเลยด้วยซ้ำ

สำหรับกระดาษที่จดบันทึกด้วยลายมือเพื่ออ่านในคืนนั้น ในเวลาต่อมาเขาก็มอบให้เพื่อนกระดาษแผ่นนั้นสูญหายไปหลายปี ก่อนจะมีคนค้นพบมันอีกครั้ง ปัจจุบันกระดาษซึ่งรู้จักกันในชื่อเล่นว่า “Schabowski’s Note” จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ประเทศเยอรมนี และถูกประมูลไปเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ Haus der Geschichte ที่เมืองบอนน์

(แล้วก็ปิดท้ายด้วยโฆษณา)

สนใจอ่านหนังสือความรู้ที่สนุกเช่นนี้ แนะนำเข้าไปเลือกซื้อหนังสือได้จากลิงก์

https://www.lazada.co.th/shop/chatchapolbook/ หรือ

https://shopee.co.th/cthada

อ่านบทความประวัติศาสตร์อื่นๆเพิ่มเติมได้ที่

https://www.facebook.com/HistorybyChatchapol

อ่านบทความวิทยาศาสตร์และการแพทย์ได้ที่

https://www.facebook.com/ChatchapolBook/

คลิปวีดีโอเกี่ยวกับประวัติศาสตร์

https://www.youtube.com/chatchapolbook

เพิ่งเริ่มทำนะครับ ช้านิดแต่จะมีคลิปใหม่ๆตามมาอีกแน่นอน

 

ที่มา : https://www.blockdit.com/articles/5df0503b2408e20d097526bf